หลักการเกี่ยวกับค่าขนส่งในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

การใช้งานและ แนะนำโปรแกรมเกี่ยวกับ งานบัญชี และ ERP อีอาร์พี

Moderator: mindphp, ผู้ดูแลกระดาน

ภาพประจำตัวสมาชิก
Narisara
PHP VIP Members
PHP VIP Members
โพสต์: 20608
ลงทะเบียนเมื่อ: 24/05/2021 10:04 am

หลักการเกี่ยวกับค่าขนส่งในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

โพสต์ที่ยังไม่ได้อ่าน โดย Narisara »

กิจการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลกฎหมายรัษฎากรที่มีการขายสินค้าหรือขายบริการ และกิจการนั้นต้องมีการจ่ายค่าขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าจะคิดเป็นราคาของราคาสินค้าได้หรือไม่ หรือคิดเป็นรายได้ของกิจการ ในบทความนี้จะไขข้อสงสัยให้กับทุกคนเอง

ค่าขนส่งในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ค่าขนส่งในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
Accounting software & ERP โปรแกรมบัญชี ระบบอีอาร์พี-1.png (80.08 KiB) Viewed 746 times

ในหลักการทางภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับค่าขนส่งอันเนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรนั้น สามารถสรุปความได้ดังนี้

1. กรณีผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ให้ถือเอาค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าหรือค่าบริการ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

(1) ไม่ว่าผู้ประกอบการจะรวมค่าขนส่งไว้ในราคาสินค้าหรือค่าบริการ หรือแยกค่าขนส่งต่างหากจากราคาสินค้าหรือค่าบริการ และ

(2) ไม่ว่าผู้ประกอบการจะทำการขนส่งยานพาหนะของตนเอง หรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นขนส่งให้ก็ตาม
กรณีแสดงรายการค่าขนส่งคนละฉบับกับใบกำกับภาษีสำหรับค่าสินค้าหรือค่าบริการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องออกใบเพิ่มหนี้ สำหรับค่าขนส่ง เพราะเป็นราคาสินค้าหรือค่าบริการส่วนเพิ่ม ตามมาตรา 82/9 และมาตรา 86/9 แห่งประมวลรัษฎากร
  • ตัวอย่าง
กิจการขอยดฟอร์นิเจอร์พร้อมขนส่งให้ด้วย ตามข้อเท็จจริงเข้าลักษณะเป็นการขายสินค้า ตามมาตรา 77/1 (แห่งประมวลรัษฎากรโดยมูลค่าของฐานภาษี คือราคาของสินค้าซึ่งรวมค่าขนส่งตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กิจการต้องออกใบกำกับภาษีโดยเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าเฟอร์นิเจอร์และค่าขนส่ง (กค 0811/พ.16253 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540)

กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการให้บริการดำเนินการออกของจากการท่าเรือและให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย หากบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ประกอบการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ แม้บริษัทฯ จะได้ให้บริการขนส่งสินค้าแก่ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะใช้ยานพาหนะของตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะแยกค่าขนส่งออกจากราคาค่าบริการออกของได้หรือไม่ บริษัทฯ ต้องนำมูลค่าของการให้บริการขนส่งมารวมกับค่าบริการออกของเพื่อรวมคำนวณเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการ เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811(กม.06)/พ.1664 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543)


2. กรณีผู้ประกอบการประกอบกิจการรับจ้างขนส่งเป็นปกติธุระ ไม่ต้องถือเอาค่าขนส่งเป็นส่วนหนึ่งของราคาสินค้าหรือค่าบริการ โดยผู้ประกอบการได้แยกค่าบริการขนส่งต่างหากจากราคาสินค้าและค่าบริการ

(1) ไม่ว่าผู้ประกอบการจะแสดงรายการค่าขนส่งไว้ในใบกำกับภาษี หรือแยกแสดงไว้ในเอกสารอื่นต่างหาก และ

(2) ไม่ว่าผู้ประกอบการจะทำการขนส่งยานพาหนะของตนเอง หรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นขนส่งให้ก็ตาม
ค่าบริการรับจ้างขนส่งดังกล่าว เป็นรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ของค่าบริการขนส่ง
  • ตัวอย่าง
กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการคลังสินค้า (รับฝากสินค้า) พร้อมขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ หากบริษัทฯ สามารถแยกค่าขนส่งและราคาค่าบริการเก็บรักษาสินค้าออกจากกันได้ การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า จึงมีสิทธิแยกคำนวณค่าขนส่งต่างหากจากค่าบริการคลังสินค้าได้ (กค 0706/พ./4804 ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2549)

การประกอบกิจการรับส่งพนักงานนำร่องระหว่างท่าเทียบเรือศูนย์รักษาร่องน้ำกับเรือบรรทุกสินค้าที่จะเข้าเทียบท่า และรับขนส่งสินค้าหรือคนโดยสารระหว่างฝั่งกับเรือบรรทุกสินค้า โดยคิดค่าขนส่งเป็นรายเที่ยว ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811/พ.05399 ลงวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2542)

ธนาคารฯ ได้ทำสัญญาจ้างขนส่งกับบริษัทฯ ให้ดำเนินการขนส่งเอกสารจากที่หนึ่งไปยังที่อีกแห่งหนึ่งโดยไม่มีการให้บริการใดเพิ่มเติม ถือเป็นการให้บริการขนส่ง ตามมาตรา 608 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0706/พ./6030 ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550)

จากบทคความข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า หากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติจะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะต้องนำเอาค่าขนส่งนี้ไปรวมเป็นราคาของสินค้า แต่หากผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติ ไม่ต้องนำเอาค่าขนส่งในรวมในราคาของสินค้า อีกทั้งยังได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ต้องหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 1%

อ้างอิง
- https://www.mindphp.com/forums/viewtopic.php?f=79&p=215472
- https://web.facebook.com/WellBusinessAndLaw/photos/a.484015585708525/948919722551440/
- https://www.mindphp.com/forums/viewtopic.php?p=203196

ผู้ใช้งานขณะนี้

สมาชิกกำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และบุคลทั่วไป 66